ความเป็นมา

     ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 ชาวมุสลิมที่ถือนิกายชีอะห์ หรือสังคมไทยเรียกว่า  “เจ้าเซ็น”  ได้อพยพหนีพม่าลงมาทางใต้ โดยล่องลงตามแม่น้ำเจ้าพระยา และได้มาพักพิงบริเวณคลองบางกอกใหญ่ โดยอาศัยอยู่ในเรือนแพและเมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งบริเวณปากคลองมอญ ระหว่างคลองมอญกับคลองวัดอรุณราชวราราม ให้แก่ ท่านก้อนแก้ว ซึ่งได้รับพระราชทานตำแหน่ง เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี เพื่อสร้างศาสนสถานและเป็นที่อยู่อาศัย โดยชาวบ้านทั่วไป เรียกว่า กุฎีเจ้าเซ็น หรือ กุฎีหลวง มุสลิมที่ปฏิบัติตามแนวทางชีอะห์จึงมีที่อยู่ใหม่ อย่างไรก็ตาม มุสลิมชีอะห์ บางส่วนมิได้เคลื่อนย้ายตามไปด้วย ยังคงอยู่ที่เดิม

    ท่านอากาหยี่   น้องชายของท่านก้อนแก้ว      เป็นบุคคลหนึ่งที่มิได้ย้ายไปอยู่ในที่ดินพระราชทาน    เนื่องจากได้จับจองที่ดินไว้ผืนหนึ่ง  ในบริเวณที่เรียกว่า เจริญพาศน์ ในปัจจุบัน เมื่อท่านก้อนแก้วได้ถึงแก่กรรม ท่านอากาหยี่จึงได้รับพระราชทาน ให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแทน และได้สร้างศาสนาสถาน สำหรับชีอะห์อีกแห่งหนึ่งในที่ดินดังกล่าว ชาวบ้านเรียกกุฎีเจ้าเซ็นของท่านก้อนแก้วว่า กุฎีบน และเรียกกุฎีเจ้าเซ็นของท่านอากาหยี่ว่า กุฎีล่าง

  ที่เรียกว่ากุฎีบน กุฎีล่าง สันนิษฐานว่าคงใช้พระราชวังเดิมเป็นเกณฑ์ ถ้าอยู่ด้านเหนือของพระราชวังเดิมเรียกว่า กุฎีบน ถ้าอยู่ใต้พระราชวังเดิมลง มาเรียกว่า กุฎีล่าง ทุกวันนี้ชุมชนกุฎีบน ได้ย้ายไปอยู่ที่พรานนก บางกอกน้อย เนื่องจากมีการเวนคืนที่ดิน เพื่อใช้ในราชการกองทัพเรือ ซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของกรมสารวัตรทหารเรือจนถึงทุกวันนี้

    ปัจจุบันทั้งกุฎีบน และกุฎีล่าง ยังเป็นศูนย์รวมของการประกอบศาสนกิจของมุสลิมชีอะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงมรณะกรรมของท่านอิมามฮุเซน (หลานของท่านศาสดามุฮัมหมัด) ซึ่งจัดขึ้นในช่วง 10 วันแรกของเดือนมุอัรรอม (เดือนแรกของปีตามปฎิทินอิสลาม) การประกอบพิธีดังกล่าว จะมีการกล่าวบทกลอนซึ่งพรรณาด้วยความเศร้าโศก รันทด สะท้อนเหตุการณ์ครั้งที่ท่านอิมามฮุเซน ได้รับวิบากกรรมจนต้องเสียชีวิตในที่สุด มุสลิมชีอะห์ทั่วโลกจะจัดให้มีพิธีดังกล่าวพร้อมกันแต่มีรูปแบบของพิธีกรรมแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ

ในปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้รับเกียรติ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมเขตการค้าเสรีประจำภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก (เอเปก 2003) จำนวน 21 ประเทศ เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมครั้งนี้ รัฐบาล จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 ให้กองทัพเรือจัดเตรียมสถานที่สำหรับการจัดการจัดเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ จำนวน 21 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม ในพื้นที่ของกรมสารวัตรทหารเรือ (เดิมเป็นที่ตั้งของสถานีทหารเรือกรุงเทพ) ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง พร้อมกันนี้ยังได้สร้างอาคารราชนาวิกสภาหลังใหม่เชื่อมต่อกับอาคารราชนาวิกสภาหลังเก่า เพื่อใช้เป็นสถานที่ชมการแสดงขบวนพยุหยาตรา-ชลมารค และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วได้มอบอาคาร และสิ่งปลูกสร้างในการดังกล่าวให้กองทัพเรือดำเนินการในเชิงพาณิชย์ โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานในโอกาสต่าง ๆ ได้

     หอประชุมกองทัพเรือเคยเป็นสถานที่จัดงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ เช่น

  • การจัดเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย และแปซิฟิก และชมการแสดงขบวนพยุหยาตราชลมารค พ.ศ.2546
  • งานชุมนุมพบปะสังสรรค์ คณะผู้บริหารจาก องค์การ ผู้บริหารระดับสูงของโลก (WPO)พ.ศ.2548
  • การประชุมสุดยอดผู้นำพระพุทธศาสนาแห่งโลก ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2548
  • งานเลี้ยงต้อนรับสาวงามที่เข้าร่วมการประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe)2005 พ.ศ.2548
  • วโรกาสมหามงคลเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ.2549
  • ประชุมสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549
  • งานสโมสรสันนิบาต พ.ศ.2551
  • งานเลี้ยงรับรองการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก พ.ศ. 2565 หรือ  APEC 2022

     ตามที่ประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเขตการค้าเสรีประจำภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค หรือ APEC 2003 นั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดย ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ กองทัพเรือ ทำการปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้างอาคารหอประชุมขนาดใหญ่ ภายในพื้นที่กรมสารวัตรทหารเรือ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมและต้อนรับแก่ผู้เข้าร่วมประชุม APEC 2003 รวมทั้งซ่อมปรับปรุงอาคารราชนาวิกสภาเดิม และต่อเติมอาคารราชนาวิกสภาเพิ่มอีก 1 หลัง เพื่อใช้เป็นสถานที่ชมการแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารค

     กองทัพเรือ จึงได้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารของกองทัพเรือเพื่อรองรับการจัดประชุม APEC 2003 ใช้ชื่อย่อว่า ” คอป. ” เพื่อดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างและปรับปรุงอาคารของกองทัพเรือ เพื่อรองรับการจัดประชุม APEC 2003 โดยปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อ 23 เมษายน 2545 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ในขณะที่ พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารเรือ  โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ 9 กรกฎาคม 2545 โดย บริษัท ถิรสิทธิ์ จำกัด ในวงเงินก่อสร้างจำนวน 305,109,000.- บาท ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2545 โดยมี พลเอก เชาวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2546 และในวันที่ 24 กันยายน 2546 ได้มีพิธีเปิดอาคาร โดย พลเอก เชาวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งต่อมาอาคารหอประชุมแห่งนี้ กองทัพเรือได้อนุมัติเรียกชื่อว่า อาคารชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หอประชุมกองทัพเรือ

     อาคารหอประชุมกองทัพเรือ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 14,184 ตารางเมตร โดยมี นาวาเอก ระพี ศรีสุกรี และ นาวาเอกหญิง เอมอร ประภาศิริ เป็นสถาปนิกออกแบบมุขศาลาไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุดสวาท ศรีสถาปัตย์ และ นาวาเอก ระพี ศรีสุกรี เป็นสถาปนิกออกแบบตัวอาคารและผังบริเวณ นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี เป็นสถาปนิกออกแบบภูมิสถาปัตย์ นาวาตรี อดิเรก ฟุ้งลัดดา เป็น มัณฑนากร นาวาเอก พรชัย จ้อยจำรูญ เป็นวิศวกรโยธา และนายสมชัย เถาทอง เป็นปฏิมากร

    แนวความคิดในการวางผังบริเวณอาคาร คือ การเปิดพื้นที่โล่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมทัศนียภาพขององค์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และสร้างความสง่างามแก่พื้นที่ตั้ง รวมทั้งตัวอาคารของหอประชุมกองทัพเรือเอง อาคารหอประชุมกองทัพเรือ ได้ออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์หลัก สองประการ คือ ใช้ในภารกิจหลักของกองทัพเรือ สำหรับการจัดประชุมรูปแบบต่าง ๆ ขณะเดียวกันที่สำคัญให้มีความพร้อมและความสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อรองรับการจัดงานเลี้ยง และรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ในการประชุมเอเปก 2003

     อาคารชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หอประชุมกองทัพเรือ ประกอบด้วย

     ชั้นที่ 1 มีพื้นที่ใช้สอย 5,616 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องอรุณอมรินทร์ ซึ่งเป็นห้องอาหาร/จัดเลี้ยงขนาดใหญ่ โถงทางเข้าระเบียงทางเดินรอบอาคาร โถงอเนกประสงค์ ห้องครัว ห้องเก็บของ ห้องเจ้าหน้าที่ ห้องตัด ผมชาย/หญิง ห้องน้ำชาย/หญิง ห้องเครื่องระบบไฟฟ้าฉุกเฉิน และระบบไฟฟ้าภายในอาคารลิฟท์ พร้อมบันไดกลางขึ้นห้องประชุม ชั้นที่ 2

     ชั้นที่ 2 มีพื้นที่ใช้สอย 5,256 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องเจ้าพระยา ซึ่งเป็นห้องประชุม/ จัดเลี้ยงขนาดใหญ่ พร้อมเวที พื้นที่เตรียมการโถง และระเบียงทางเดินรอบห้องจัดเลี้ยง ห้องรับรองวีไอพี จำนวน 1 ห้อง และห้องรับรอง จำนวน 2 ห้อง ห้องน้ำชาย-หญิง พร้อมบันได ขึ้น- ลง เฉพาะห้องประชุม/จัดเลี้ยง จากมุขทางเข้าด้านล่าง ติดแม่น้ำเจ้าพระยา

     ชั้นที่ 3 ประกอบด้วย พื้นที่ใช้สอย ประมาณ 3,312 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องชมชลธี ซึ่งเป็นห้องจัดเลี้ยงพร้อมเวที ห้องโพธิ์สามต้น และห้องวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งเป็นห้องจัดประชุมสัมมนา ห้องเก็บของ ห้องเครื่องระบบปรับอากาศ ห้องเครื่องระบบไฟฟ้า และห้องน้ำชาย – หญิง

อาคารราชนาวิกสภา

     อาคารราชนาวิกสภา ได้สร้างขึ้นมานานกว่า 84 ปี แล้ว(ขณะนั้นปี พ.ศ.2546) แม้ว่าตัวอาคารโดยรวมยังคงแข็งแรงและยังใช้งานได้ในปัจจุบัน แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการรับน้ำหนัก เนื่องจากเมื่อแรกสร้างนั้น ไม่ได้ทำการลงเสาเข็ม ไว้ จึงทำให้ฐานรากที่มีอยู่ไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดไว้ ดังนั้น จึงต้องทำการเสริมความแข็งแรงของฐานรากเดิม ส่วนการปรับประโยชน์ใช้สอยภายในตัวอาคารนั้น จะกระทำเท่าที่จำเป็น โดยยังคงรูปลักษณ์ภายนอกอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ รูปด้านหน้าอาคาร และโครงสร้างส่วนที่เป็นกำแพงรับน้ำหนัก ตลอดจนเสาไม้ และบันไดเดิมไว้ให้มากที่สุด เนื่องด้วยคุณค่าทางสุนทรีภาพของอาคารนี้ อยู่ที่ความงดงามขององค์ประกอบทางศิลปะสถาปัตยกรรมและสัดส่วนที่ลงตัวของอาคาร

     กองทัพเรือ ได้อนุมัติให้จ้าง บริษัท สยามกรกิจ จำกัด ให้ดำเนินการซ่อมปรับปรุงอาคารราชนาวิกสภา โดยเริ่มดำเนินการในวันที่ 27 กรกฎาคม 2545 ใช้งบประมาณจำนวนเงิน 51,500,000.-บาท และแล้วเสร็จในวันที่ 5 ตุลาคม 2545

     อาคารราชนาวิกสภา ส่วนต่อเติม เป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ โดยเชื่อมต่อกับอาคารราชนาวิกสภาหลังเดิม สำหรับแนวความคิดหลัก ในการออกแบบก่อสร้างนั้น พยายามที่จะยึดเอาลักษณะทางสถาปัตยกรรม รูปทรงหลังคา และสัดส่วนต่าง ๆ ตามแบบของอาคารเดิมซี่งชั้น ล่างของอาคารใหม่จะใช้เป็นที่จอดรถและส่วนต้อนรับเพื่อนำเข้าสู่โถงบันไดที่ต่อเนื่องไปยังชั้นบนของอาคารซึ่งเป็นโถงรับรองซึ่งจากภายใน ห้องสามารถชมทัศนียภาพที่สวยงามของแม่น้ำเจ้าพระยาและพระบรมมหาราชวังได้อย่างชัดเจน และเมื่อซ่อมอาคารราชนาวิกสภา ทั้ง 2 หลัง แล้ว จะเป็นกลุ่มอาคารที่ดูต่อเนื่องกันอย่างลงตัว และกลมกลืนกับบริเวณโดยรอบ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของงานสถาปัตยกรรม ในเชิงอนุรักษ์ รวมทั้งเสริมทัศนียภาพที่สวยงามให้แก่แม่น้ำเจ้าพระยา กองทัพเรือ ได้อนุมัติให้จ้าง บริษัท ส.กนกวรรณ อุตสาหกรรม จำกัด ให้ดำเนินการซ่อมปรับปรุงอาคารราชนาวิกสภา โดยเริ่มดำเนินการในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2545 ใช้งบประมาณจำนวนเงิน 47,076,000.-บาท และแล้วเสร็จในวันที่ 5 ตุลาคม 2546 โดยมี น.อ.ศิรินาท ศิริรังษี และ ร.ท.จักรกฤษ กูลศรีสมบัติ เป็นสถาปนิก, น.อ.อภินันท์ เพ็งศรีทอง และ ร.ท.สุวัฒน์ สิทวงษ์ เป็นวิศวกรโยธา ”

     ปัจจุบัน อาคารส่วนนี้มีชื่อว่า “ห้องชมวัง

เรืออังสนา

     พล.ร.อ.ประเสริฐ บุญทรง ผู้บัญชาการทหารเรือ ในขณะนั้น อนุมัติให้จัดสร้างเรืออังสนา เมื่อ 16 สิงหาคม 2545 โดยมีบริษัท ไทยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดำเนินการก่อสร้าง วงเงิน 64,200,000.- บาท มี น.อ.ทินกร ตัณฑากาศ เป็นสถาปนิก, นางสาววรรณชื่น วุฒิวัน และนายสำเริง ศักดิ์ปรีชากุล เป็นมัณฑนากร ทำพิธีวางกระดูกงูเมื่อ 28 ตุลาคม 2545 ปล่อยลงน้ำเมื่อ 6 ตุลาคม 2546 ส่งมอบเรือเมื่อ 8 ธันวาคม 2546 ลักษณะตัวเรือเป็นเหล็ก ความเร็วสูงสุด 12 น็อต ขนาดเรือกว้าง 10 เมตร ยาว 49 เมตร สูง 5.5 เมตร ระวางขับน้ำ 413 ตัน รองรับผู้ร่วมงานได้ 250 ท่าน

ปรับปรุงหอประชุมกองทัพเรือ

    ในปี พ.ศ.2559 รัฐบาลมีนโยบายให้ปรับปรุงหอประชุมกองทัพเรือ เพื่อรองรับเป็นสถานที่จัดการประชุมระดับนานาชาติ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 11 ตุลาคม 2559 ต่อมากองทัพเรือในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ได้กำหนดแนวความคิดในการปรับปรุง คือ ให้คำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมเดิม รวมทั้งแก้ไขปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด บทเรียนที่เกิดจากการใช้งานที่ผ่านมา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายของผู้ใช้งาน โดยจ้างบริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ออกแบบทั้งโครงการประกอบด้วย ระยะที่ 1 เป็นการปรับปรุงให้ทันสมัย ใช้วงเงิน 483.5 ล้านบาท และระยะที่ 2 เป็นการขยายขีดความสามารถ ใช้วงเงิน 762.2 ล้านบาท

   การดำเนินการปรับปรุงตามโครงการในระยะที่ 1 มีงานที่สำคัญ 6 งาน ได้แก่

  • งานปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการย้ายหน่วยกองบังคับการ กองพันสารวัตรทหารเรือที่ 1
  • งานปรับปรุงอาคารจอดรถหลังเดิม และงานก่อสร้างอาคารจอดรถหลังใหม่
  • งานปรับปรุงอาคารหอประชุมกองทัพเรือ
  • งานปรับปรุงอาคารราชนาวิกสภา
  • งานปรับปรุงภูมิสถาปัตย์
  • งานปรับปรุงระบบสนับสนุน

โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบกลางตั้งแต่ปี 2560 จนถึง 2562 กับใช้งบประมาณของกองทัพเรือบางส่วนเพิ่มเติมให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยมีบริษัทดำเนินงานหลักคือ บริษัท ช.หอมนานก่อสร้าง จำกัด รวมระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 25 เดือน แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อ 31 สิงหาคม 2562 และส่งมอบพื้นที่ให้กับ กิจการหอประชุมกองทัพเรือเมื่อ
15 กันยายน 2562